วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

100 ปี สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก



เป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนในด้านต่างๆ มากมายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดพระชนม์ชีพ จนได้รับการขนานพระนามว่า พระของประชาชน


เป็นความปลื้มปีติของพุทธศาสนิกชนคนไทยที่มีโอกาสได้ร่วมแสดงมุทิตาจิตต่อองค์สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี เป็นพระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทยที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่ยาวนานที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และนับจากนี้ไปคือ เรื่องราวบางแง่บางมุมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่น่าสนใจและน่าศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชีวิต



ทรงมีเชื้อสายทั้งจีน ญวน ผสมคนไทยอยุธยาและชาวปักษ์ใต้
     
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประสูติเมื่อเวลาราว 4 นาฬิกาหรือตีสี่ วันศุกร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 ณ บ้านเลขที่ 367 ถนนปากแพรก ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนหัวปีของนายน้อยและนางกิมน้อย คชวัตร
     
 ภูมิประวัติในวัยเด็กของสมเด็จพระสังฆราชถือว่ามีความน่าสนใจยิ่ง และอาจถือเป็นตัวอย่างความเป็น ชาวสยามแต่ดึกดำบรรพ์ได้ดี ด้วยสืบสาแหรกตระกูลมาจากหลายทิศหลายทางต่างชาติต่างภาษา


     
เริ่มจากวงศาคณาญาติฝ่ายบิดา กล่าวคือนายเล็กซึ่งเป็นปู่ของพระองค์สืบเชื้อสายทางหนึ่งมาจาก หลวงพิพิธภักดี(ช้าง)ชาวกรุงเก่าหรือชาวอยุธยา ขณะที่มารดาของนายเล็กชื่อนางจีนเป็นสาวชาวใต้จากเมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดพังงา
     
ขณะที่วงศาคณาญาติฝ่ายมารดา คุณตาคือนายทองคำบิดาของนางกิมน้อย เป็นคนเชื้อสายญวน ส่วนมารดาชื่อนางเฮงเล็กเป็นคนจีน แซ่ตัน ดั้งเดิมบรรพบุรุษโดยสารเรือสำเภามาจากเมืองจีน เรือแตกก่อนถึงฝั่งเมืองไทย แต่ก็รอดชีวิตมาขึ้นฝั่งเมืองไทยได้ แล้วจึงไปตั้งถิ่นฐานค้าขายอยู่เมืองกาญจนบุรี ส่วนชื่อกิมน้อยซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระคุณก็เป็น ภาษาญวนกิมแปลว่าเข็ม กิมน้อยก็คือ เข็มน้อยโดยญาติข้างฝ่ายมารดานี้ต่อมาใช้นามสกุลว่า รุ่งสว่าง

     
ทรงเป็นพระอภิบาลในหลวง ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์พระบรมฯ
     
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี แล้วเข้ามาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท และทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆารามในปี 2476 จากนั้นทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และยังคงฉายา สุวฑฺฒโน” (มีความหมายว่าผู้เจริญดี) ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ประทานให้เมื่อครั้งเป็นสามเณร

Ref. http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000125123                 


สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก  ทรงเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของถนนปากแพรกและบ้านเดิมของท่านก็อยู่ที่นี่  ซึ่งเป็นบ้านอีกแห่งหนึ่งที่สามารถเรียนรู้เรื่องราวของท่านได้ที่นี่...ปากแพรก...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น